วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

บันทึกการศึกษางานวิชาการ



ด้านงานวัดและประเมินผล

     การประเมินพัฒนาการ
     โรงเรียนสาธิตละอออุทิศให้ความสำคัญกับการประเมินผลพัฒนาการเด็ก ซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญมากในการประเมินผลพัฒนาการเด็ก ครูเป็นผู้ประเมินพัฒนาการทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา
การประเมินผลพัฒนาการเด็กดำเนินการโดยคำนึงถึงหลักพัฒนาการด้านต่างๆดังนี้
1.ความเป็นเอกัตบุคคลของเด็ก กล่าวคือ เด็กแต่ละคนมีอัตราการเจริญเติบโตเฉพาะตนเอง
2.ความคิดรวบยอดของเด็กแต่ละคน
3.พัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กทุกด้านโดยเฉพาะด้านสติปัญญา ถือเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการเรียนรู้
4.เด็กเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากประสบการณ์ตรง การทดลอง และการค้นพบ
5.การจัดประสบการณ์การเรียนรู้แก่เด็กจำเป็นต้องคำนึงถึงพื้นฐานทางด้านครอบครัว ความสนใจ และระดับพัฒนาการของเด็กแต่ละคนในชั้น

     ด้านงานจัดกระบวนการเรียนการสอน
     การสอนภาษาแบบธรรมชาติ (Whole Language Approach) คือ การที่เด็กได้เรียนรู้การใช้ภาษาทั้งด้านการฟัง พูด อ่าน เขียนไปตามธรรมชาติ อย่างมีความหมาย สอดคล้องเหมาะสมกับวัย โดยไม่แยกว่าต้องอ่านก่อน หรือเขียนก่อน แต่จะเน้นให้เด็กได้ลงมือทำด้วยตนเอง เช่น อ่านนิทาน เล่าเรื่องราว ฟังนิทานที่ครูหรือเพื่อนเล่า เขียนคำที่ตนสนใจจากเรื่องที่ได้อ่านหรือได้ฟัง เป็นต้น การสอนภาษาธรรมชาติมีลักษณะดังนี้
     1.เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ เด็กมีโอกาสเลือกกิจกรรมปฏิบัติอย่างอิสระ ครูเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ และร่วมมือจัดการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างเด็กกับครู ตั้งแต่วางแผนการเรียนว่า จะทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ใช้อุปกรณ์อะไรและใครร่วมรับผิดชอบบ้าง
     2.คำนึงถึงการมีปฏิสัมพันธ์ของเด็กกับสังคม เพราะเด็กจะต้องอยู่ในสังคม ห้องเรียนเป็นสังคมหนึ่ง ที่ครูสร้างความรู้สึกที่ดีให้เด็กอยู่ในกลุ่มเพื่อนอย่างมีความสุข โดยไม่มีกลุ่มเด็กเรียนเก่ง เรียนอ่อนในห้องเรียน
     3.สนับสนุนให้เด็กใช้ภาษาแบบองค์รวมเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นเด็กจะได้ ฟัง พูด อ่านเขียน เพื่อสื่อสารกับผู้อื่นอย่างมีจุดมุ่งหมาย มิใช่การทำแบบฝึกหัดและแยกสอนทักษะภาษา
     4.เด็กเรียนรู้ภาษาจากการเลียนแบบ ดังนั้น ครู พ่อแม่ และทุกคนที่อยู่รอบตัวเด็กจึงมีความหมายต่อการเรียนรู้ภาษาของเด็ก เด็กจะเห็นผู้ใหญ่ใช้ภาษาหลายจุดมุ่งหมาย หลายวิธีการ เพราะเป็นเครื่องมือสื่อสารของคนเรา เช่น ฟังเพลงเพื่อความบันเทิง หรือฟังบรรยายเพื่อเก็บความรู้ การอ่านเพื่อเพลินเพลิด หรือการอ่านเพื่อเก็บความรู้ เป็นต้น
     5.ผู้ใหญ่เป็นนักอ่านที่ดีให้เด็กเห็นเป็นแบบอย่าง และผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้เด็กฟัง ให้เด็กมีโอกาสซึมซับภาษา (immersion) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ภาษา
     6.เชื่อว่าเด็กทุกคนเรียนรู้ภาษาได้ โดยครูทราบเช่นกันว่า เด็กเรียนรู้ภาษาแบบธรรมชาติเป็นอย่างไร
     7.เด็กสามารถเกิดประสบการณ์ทางภาษาได้ตลอดเวลาในวันหนึ่งๆ ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ดังนั้น การที่เด็กมาโรงเรียน เขาได้รู้ ได้เห็นสัญลักษณ์ทางภาษารอบตัว เช่น ป้ายทะเบียนรถ ป้ายชื่อร้านค้า เครื่องหมายจราจร เป็นต้น เด็กได้ยิน ได้ฟัง ได้สนทนาโต้ตอบ เป็นการใช้ภาษา
     8.เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีภาษาหรือตัวหนังสือ ในห้องเรียนจะมีหนังสือสำหรับเด็กอย่างเพียงพอกับจำนวนเด็ก มีมุมอ่าน มุมเขียน มุมห้องสมุด มีป้ายประกาศต่างๆ ที่ทำให้เด็กคุ้นเคยกับภาษา เช่น ป้ายชื่อ ป้ายติดผลงาน ป้ายข่าวและเหตุการณ์ มีมุมหุ่น มุมนิทานให้เด็กได้ใช้ภาษาพูด เล่าเรื่องราว เป็นต้น
     9.เด็กได้เรียนภาษาอย่างมีความสุข โดยครูจัดการเรียนการสอนที่น่าสนใจ มีความสนุกสนาน เนื้อหาที่เรียนมีอยู่จริงในชีวิตประจำวัน
     10.เด็กได้รับการสนับสนุนจากครูและพ่อแม่ให้อ่านหนังสือ โดยโรงเรียนมีหนังสือให้เด็กยืมกลับบ้านไปอ่าน
     11.ครูจัดหาหนังสือเพิ่มเติมให้เด็กเสมอ อาจจะหมุนเวียน เปลี่ยนสลับระหว่างห้องเรียน และได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองจัดหามาให้ยืม

การประเมินผลในระดับชั้นเรียน
1.การสังเกต
2.การสัมภาษณ์ พูดคุย
3.การใช้แบบประเมินพัฒนาการ
4.การบันทึกแฟ้ม
5.การใช้แฟ้มผลงานเด็ก

งานพัฒนาการเรียนการสอน
- การพัฒนาครู มีการจัดอบรมครูในโรงเรียน ส่งครูเข้ารับการอบรมกับหน่วยงานด้านการศึกษาปฐมวัย ประชุมครูเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้
- การพัฒนาเด็ก มีการพัฒนาแผนการจัดประสบการณ์ในกิจกรรมและเกมการศึกษา จัดโครงการที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กแต่ละด้าน
- การใช้แหล่งเรียนรู้ที่ส่งเสริมและพัฒนาเด็กสอดคล้องกับหน่วยการเรียน
- การใช้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน เช่น สนับสนุนสื่ออุปกรณ์ตามความเหมาะสม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น