วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วันที่เก้า@บ้านเขียว :::: วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557

สิ่งที่เรียนรู้ : แผนการจัดกิจกรรมเสรี หน่วยสีแสนสนุก (นางสาวธันยาภรณ์ จินดารัตน์)

ความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้ : กิจกรรมเสรีเป็นกิจกรรมที่เด็กได้มีสิทธิ์เลือกเล่นในสิ่งที่ตนสนใจ และต้องการที่จะเรียนรู้ ดังนั้นครูควรจัดกิจกรรมที่น่าสนใจและสอดคล้องกับหน่วยการเรียนรู้นั้นๆ

ทฤษฎี/แนวคิดที่เกี่ยวข้อง :  ในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นในตนเองให้กับเด็กนั้น ครูปฐมวัยมีการศึกษาหลักการ ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัยในแต่ละช่วงอายุว่า มีลักษณะอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร มีปัจจัยหรือองค์ประกอบใดบ้าง ที่จะส่งเสริมเด็กให้มีความเชื่อมั่นในตนเองได้ เช่น การศึกษาทฤษฎีการพัฒนาบุคลิกภาพของอีริคสัน (Erikson) ที่ได้กล่าวว่า เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่เรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกใหม่และน่าตื่นเต้นสำหรับเด็ก บุคลิกภาพจะสามารถพัฒนาได้ดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่ว่า แต่ละช่วงวัยของเด็กจะประสบความพึงพอใจตามขั้นพัฒนาการต่างๆได้มากน้อยเพียงใด ถ้าเด็กได้รับการตอบสนองในสิ่งที่เขาพึงพอใจในช่วงอายุนั้น เด็กก็จะมีบุคลิกภาพที่ดี ซึ่งในช่วงวัย 3 – 5 ปี เด็กจะมีพัฒนาการทางบุคลิกภาพในขั้น การริเริ่มหรือการรู้สึกผิด (Initiative & Guilt) เด็กมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัวเอง เด็กจะมีการเลียนแบบผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือสิ่งแวดล้อมที่ตนรับรู้ เด็กเริ่มเรียนรู้ และยอมรับค่านิยมของครอบครัวและสิ่งที่ถ่ายทอดสู่เด็ก ถ้าเด็กไม่มีอิสระในการทำสิ่งต่างๆตามที่เขาต้องการ ก็จะเกิดความคับข้องใจไม่สามารถเรียนรู้ในสิ่งที่ตนอยากรู้ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อจิตใจของเด็กและความรู้สึกผิดติดตัว ทำให้ไม่กล้าคิดหรือทำสิ่งต่างๆต่อไป หรือทฤษฎีความต้องการขั้นพื้นฐานของมาสโลว์ (Maslow) ที่เชื่อว่ามนุษย์มีคุณภาพ เนื่องมาจากความคิด ความรู้สึก ความตระหนักรู้และการแสวงหาสิ่งที่ดีงาม ค้นหาเป้าหมายของชีวิตให้ได้รับสิ่งที่มีความหมายต่อตนเอง และมนุษย์ทุกคนมีความต้องการแสวง หาสิ่งแปลกใหม่ ที่จะสนองความต้องการให้กับตนเองทั้งสิ้น ซึ่งในเด็กปฐมวัยเป็นวัยที่มีความต้องการในขั้นพื้นฐาน ได้แก่ -ความต้องการทางด้านร่างกาย ได้แก่ อาหาร น้ำ อากาศ อุณหภูมิ การนอนหลับ การขับถ่าย เป็นต้น
  • ความต้องการความปลอดภัย ได้แก่ ความรู้สึกมั่นคง การได้รับการปกป้อง ความมั่นคงจากครอบครัว ความปลอดภัยจากความวิตกกังวล การหลีกเลี่ยงอันตราย ความเจ็บป่วยต่างๆ การได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย เป็นต้น
  • ความต้องการความรัก ความเป็นเจ้าของ ได้แก่ การต้องการความรัก อยากให้ตนเป็นที่รัก และได้รับการยอมรับ ตั้งแต่ครอบครัว กลุ่มเพื่อน กลุ่มสังคม กลุ่มทำงาน เป็นต้น


     ทฤษฎีที่เป็นพื้นฐานเหล่านี้ ครูจึงนำมาพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสมกับการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัย กิจกรรมที่ครูมักนำมาจัดเพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นในตนเองให้กับเด็กปฐมวัย มีตัวอย่างดังนี้
  • กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กได้เคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย อย่างอิสระตามเสียง เพลง จังหวะ ทำนอง ฯลฯ เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้รับการพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆ แสดงออกในด้านจินตนาการและความ คิดสร้างสรรค์ การที่จะส่งเสริมความเชื่อมั่นจากการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ ครูจะเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำกิจ กรรมด้วยตนเองอย่างทั่วถึง และพยายามส่งเสริมให้เด็กสามารถรับรู้ศักยภาพแห่งตนจากกิจกรรมนี้ให้มากที่สุด เช่น กิจ กรรมการเคลื่อนไหวแบบผู้นำ – ผู้ตาม เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กออกมาแสดงท่าทางตามจังหวะและเสียงเพลง และให้เพื่อนทำตามท่าทางนั้น กิจกรรมลักษณะนี้เป็นวิธีการที่ช่วยให้เด็กได้มีความกล้าในการที่จะแสดงออกได้เป็นอย่างดี และพัฒนาต่อไปเป็นความเชื่อมั่นในตนเอง หรือการเคลื่อนไหวตามเรื่องราวหรือนิทานที่ครูเล่า จะทำให้เด็กกล้าที่จะแสดงออกถึงท่าทาง สีหน้าตามบทบาทของตัวละครที่ครูเล่าได้ด้วยความมั่นใจ ดังนั้น ในการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ ครูจะสังเกตพฤติกรรมเด็กอย่างใกล้ชิด และให้โอกาสเด็กที่ไม่ค่อยกล้าแสดงออก มาทำกิจกรรม ให้เป็นผู้นำในการเคลื่อน ไหว อีกทั้งยังได้รับการชื่นชม หรือให้แรงเสริมทางบวก เพื่อให้เด็กรับรู้ความสามารถและพัฒนาพฤติกรรมที่พึงประสงค์อย่างต่อเนื่อง
  • กิจกรรมเสริมประสบการณ์/กิจกรรมในวงกลม เป็นกิจกรรมที่มุ่งให้เด็กได้เกิดความคิดรวบยอดในสิ่งที่เรียนรู้ ผ่านการจัดกิจกรรมบูรณาการอย่างเหมาะสม และการเน้นลงมือปฏิบัติจริง ด้วยวิธีการจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย เช่น การสนทนาอภิปราย การสาธิต การทดลอง การประกอบอาหาร การศึกษานอกสถานที่ การเล่านิทาน การแสดงบทบาทสมมติ เป็นต้น การจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์จะเน้นให้เด็กทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ การทำโครงการเป็นกลุ่ม การทดลองเป็นกลุ่ม การศึกษานอกสถานที่เป็นกลุ่ม ซึ่งกิจกรรมกลุ่มที่มีความสัมพันธ์จะส่งผลดีต่อการสร้างสัมพันธภาพและการสื่อสารระหว่างสมาชิก เกิดการแบ่งหน้าที่ในการทำงานกลุ่ม สร้างความรับผิดชอบต่อตนเองและกลุ่ม ทำให้ทุกคนต้องแสดงบท บาทในฐานะที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม ดังนั้น การที่เปิดโอกาสให้ทุกคนในกลุ่มได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบเป็นการสนับสนุนพฤติกรรมด้านการแสดงออก ซึ่งเป็นคุณลักษณะของการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้กับเด็กได้ นอกจากนี้ ในการจัดกิจกรรมทุกครั้ง ต้องมีการสรุปและนำเสนอผลงานของกลุ่ม เด็กก็จะมีโอกาสในการนำเสนอผลงานด้วยการพูด อธิบายสิ่งที่ทำให้เพื่อนรับรู้ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวนี้ก็เป็นการส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงออก และเป็นการสร้างความรู้สึกและการรับรู้คุณค่าในตนเองด้วย

  • กิจกรรมสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กแสดงออกทางด้านความรู้สึก จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ผ่านสื่อ วัสดุอุปกรณ์อย่างหลากหลายด้วยการใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้ เช่น การวาดภาพระบายสี การพิมพ์ภาพ การฉีก พับ ตัด ปะกระดาษ การเล่นและทดลองด้วยสี การปั้น การประดิษฐ์จากเศษวัสดุ ฯลฯ กิจกรรมสร้างสรรค์จะเน้นในเรื่องการแสดงออกอย่างอิสระในด้านศิลปะ เพื่อให้เด็กสามารถถ่ายทอดความรู้สึก การคิด จินตนาการออกมา ให้เด็กรับรู้และชื่นชมทางด้านศิลปะ อีกทั้งยังให้รู้จักชื่นชมผลงานของตนเองและผลงานผู้อื่น หลักการสำคัญของกิจกรรมสร้างสรรค์นี้คือ การส่งเสริมให้เด็กริเริ่มกิจกรรมอย่างอิสระ (Child Initiate) ได้มีโอกาสเลือกกิจกรรม วัสดุอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งลักษณะของการริเริ่มกิจกรรมด้วยตนเอง จะทำให้เด็กได้วางแผน ปฏิบัติกิจกรรมและทบทวนสิ่งที่ได้วางแผนหรือเลือก เป็นการส่งเสริมเด็กให้รู้จักการกำกับตนเองด้วย (Self Regulation) กิจกรรมสร้างสรรค์ยังมุ่งให้เด็กได้ประสบความสำเร็จจากการปฏิบัติกิจกรรมในทุกครั้ง ดังนั้นการที่เด็กได้รับความสำเร็จ เป็นการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ เด็กจะรู้คุณค่าในตนเอง ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความเชื่อมั่นในตนเอง 
  • กิจกรรมเสรี/เล่นตามมุม เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ โดยส่งเสริมให้เด็กรู้จักเลือก ตัดสินใจ และแก้ปัญหาจากการเล่นของตนเอง และการเล่นกับผู้อื่น กิจกรรมเสรีเป็นกิจกรรมที่เด็กมีโอกาสเล่นเป็นรายบุคคล หรือการเล่นร่วมกับเพื่อนในมุมประสบการณ์ต่างๆที่จัดไว้ และมีวัสดุอุปกรณ์ประจำมุมอย่างหลากหลาย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ากิจ กรรมการเล่นตามมุมนี้ เด็กมีโอกาสที่แสดงออกอย่างเสรีได้มากที่สุด สังเกตได้ว่ากิจกรรมการเล่นตามมุม เด็กส่วนใหญ่จะนำประสบการณ์การเล่นที่ได้เรียนรู้มาก่อนมาใช้เล่นตามมุมที่โรงเรียน เช่น การเล่นหม้อข้าวหม้อแกง การเลียนแบบชีวิตในครอบครัว การแสดงบทบาทเป็นพ่อ แม่ สมาชิกในครอบครัว หรือเลียนแบบอาชีพต่างๆ เช่น หมอ ตำรวจ ชาวนา ในบาง ครั้งเมื่อเด็กได้มีโอกาสเล่นตามมุมกับเพื่อน เขาจะกล้าแสดงออกได้มากกว่าการที่ครูจะร่วมเล่นหรืออยู่ด้วย เด็กจะร่วมกันวางแผนการเล่นในมุมบทบาทสมมติ มีการสร้างเรื่องราวที่จะเล่นหรือแสดง และเป็นสิ่งที่น่าประทับใจมาก กิจกรรมนี้สามารถทำให้เด็กที่ไม่กล้าแสดงออก สามารถที่จะเรียนรู้ทักษะทางสังคมและพฤติกรรมชอบสังคมได้เป็นอย่างดี
  • กิจกรรมกลางแจ้ง เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการแสดงออกด้วยการเล่นนอกห้องเรียน อาจจะเป็นสนามเด็กเล่น หน้าห้องเรียน หรือสถานที่ในร่มก็ได้ กิจกรรมกลางแจ้งมีรูปแบบการจัดได้ในหลายลักษณะ เช่น การเล่นเครื่องเล่นสนามอิสระ การเล่นเกมทั่วไป การเล่นเกมพื้นบ้านแบบไทย การเล่นเกมพลศึกษา การเล่นน้ำ เล่นทราย เป็นต้น การส่งเสริมความเชื่อมั่นในตนเองจากการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง ด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นและเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นขณะเล่น เช่น การเล่นแบบไทย งูกินหาง กาฟักไข่ เป็นกิจกรรมการเล่นที่เด็กจะต้องมีการตกลงกันว่า ใครจะทำหน้าที่อะไร ใครเป็นพ่องู ใครเป็นแม่งู หรือใครเป็นกา การเรียนรู้ที่จะปรับตัวจึงเกิดขึ้นในช่วง เวลาของการเล่น ซึ่งการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความเชื่อมั่นในตนเอง
  • เกมการศึกษา เป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาเด็กให้มีความคิดรวบยอด รู้จักสังเกต จำแนก เปรียบเทียบ จัดหมวดหมู่ การคิดแก้ปัญหา การพัฒนาสติปัญญาความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กจะเกิดขึ้นได้ จากการที่ครูให้โอกาสเด็กได้เล่นเกมประเภทต่างๆอย่างอิสระ เด็กได้คิดแก้ปัญหาจากการเล่น ประสบความสำเร็จในการเล่น ทำให้เด็กมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตน และพัฒนาไปสู่ความภาคภูมิใจในตนเอง กิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัยตามตารางกิจกรรมประจำวัน สามารถพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองได้ทุกกิจกรรม แต่การที่เด็กจะพัฒนาได้มากน้อยหรือช้าเร็ว ขึ้นอยู่กับบทบาทของครู ที่มีความสำคัญในการส่งเสริมให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ ด้วยการจัดกิจกรรมที่มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับพัฒนาของเด็กในแต่ละวัยได้อย่างเหมาะสม

แนวทางปฏิบัติจากความรู้ใหม่ : จากการที่เพื่อนได้จัดกิจกรรมเสรีและมีสื่อต่างๆให้เด็กได้มีโอกาสได้เลือกนั้น ทำให้เด็กที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมหรือการกระทำที่เกิดขึ้นในการดำรงชีวิตในแต่ละวัน เช่น การกล้าพูด กล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่ขี้อาย ไม่ประหม่า มีจิตใจมั่นคง มีความภาคภูมิใจในตนเองมีความมั่น ใจในความคิดของตนเอง และพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น กล้าตัดสินใจโดยไม่ลังเล ไม่มีความวิตกกังวล กล้าเผชิญต่อความจริง รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างความสำเร็จในด้านต่างๆของชีวิตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความเชื่อมั่นในตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น