วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วันที่สิบสี่@บ้านเขียว :::: วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557

สิ่งที่เรียนรู้ : แผนการจัดกิจกรรมนิทานส่งเสริมกระบวนการคิด
หน่วย  สีแสนสนุก      เรื่อง  นิทานวาดไปเล่าไป (รูปปู)
ระดับชั้น  บ้านสาธิต             วันพฤหัสบดีที่  13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ขั้นนำ
เด็กและครูร่วมกันร้องเพลง
"เด็กๆ จ๋าชวนกันมาฟังนิทาน นิทานสนุกสนาน ฟังแล้วชื่นบานจิตใจ ฟังแล้วนั่งตัวตรง ขอให้คงความนิ่งเอาไว้ นั่งฟังอย่างตั้งใจ หนูจะได้ใจความเรื่องเอย"
ขั้นสอน
1.เด็กและครูสร้างข้อตกลงในการฟังนิทานร่วมกัน
2.ครูเล่านิทาน โดยวิธีการวาดไปเล่าไป ให้เด็กฟัง พร้อมตั้งคำถาม ในระหว่างเล่าเรื่องเพื่อกระตุ้นให้เด็กได้คิดตาม ดังนี้
   - เด็กๆ คิดว่านิทานที่ครูกำลังเล่าจะเป็นภาพอะไร
3.เด็กและครูร่วมกันทบทวน เนื้อหาของนิทานวาดไปเล่าไป
ขั้นสรุป
ให้เด็กๆแต่ละคนตั้งชื่อเรื่องให้นิทานที่เด็กๆได้ฟัง



ทฤษฎี/แนวคิดที่เกี่ยวข้อง :   ทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences)

        พหุปัญญา หมายถึง สติปัญญาความสามารถที่หลากหลายของบุคคลที่มี ความสามารถที่มาจากการถูกควบคุมโดยสมองแต่ละส่วน และการพัฒนาสมองต้องได้รับการเลี้ยงดูจากสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม การส่งเสริมความสามารถทางสติปัญญาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีเป้าหมาย คิดอย่างมีเหตุผล และต้องจัดให้เหมาะสมกับความแตกต่างระหว่างบุคคลเพื่อให้พัฒนา ความสามารถทางสติปัญญาของบุคคลในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ลักษณะบุคคลที่มีความสามารถทางด้านพหุปัญญา 
1. ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)   คือ ความสามารถในการใช้ภาษารูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ภาษาพื้นเมืองจนถึงภาษาอื่นๆ สามารถรับรู้ เข้าใจภาษา และสามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามที่ต้องการ ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่นก็มักเป็น กวี นักเขียน นักพูด นักหนังสือพิมพ์ ครู ทนายความ หรือนักการเมือง
2. ปัญญาด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence)  คือ ความสามารถในการคิดแบบมีเหตุ และผลการคิดเชิงนามธรรม การคิดคาดการณ์ และการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ ผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น ก็มักเป็น นักบัญชี นักสถิติ นักคณิตศาสตร์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเขียนโปรแกรม หรือวิศวกร
กำลังแสดง ______ 2.JPG3. ปัญญาด้านความสามารถในการรับรู้ทางสายตาได้ดี สามารถมองเห็นพื้นที่ รูปทรง ระยะทาง และตำแหน่ง อย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แล้วถ่ายทอดแสดงออกอย่างกลมกลืน มีความไวต่อการรับรู้ในเรื่องทิศทาง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น จะมีทั้งสายวิทย์ และสายศิลป์
สายวิทย์ ก็มักเป็น นักประดิษฐ์ วิศวกร ส่วนสายศิลป์ ก็มักเป็นศิลปินในแขนงต่างๆ เช่น จิตรกร วาดรูป ระบายสี เขียนการ์ตูน นักปั้น นักออกแบบ ช่างภาพ หรือสถาปนิก เป็นต้น
4. ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily Kinesthetic Intelligence)  คือ ความสามารถในการควบคุมและแสดงออกซึ่งความคิด ความรู้สึก โดยใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงความสามารถในการใช้มือประดิษฐ์ ความคล่องแคล่ว ความแข็งแรง ความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น ความประณีต และความไวทางประสาทสัมผัส สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักกีฬา หรือไม่ก็ศิลปินในแขนง นักแสดง นักฟ้อน นักเต้น นักบัลเล่ย์ หรือนักแสดงกายกรรม
5. ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)   คือ ความสามารถในการซึมซับ และเข้าถึงสุนทรียะทางดนตรี ทั้งการได้ยิน การรับรู้ การจดจำ และการแต่งเพลง สามารถจดจำจังหวะ ทำนอง และโครงสร้างทางดนตรีได้ดี และถ่ายทอดออกมาโดยการฮัมเพลง เคาะจังหวะ เล่นดนตรี และร้องเพลง สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักดนตรี นักประพันธ์เพลง หรือนักร้อง
6. ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)   คือ ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ทั้งด้านความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และเจตนาที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน มีความไวในการสังเกต สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง สามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม สร้างมิตรภาพได้ง่าย เจรจาต่อรอง ลดความขัดแย้ง สามารถจูงใจผู้อื่นได้ดี เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคน แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นครูบาอาจารย์ ผู้ให้คำปรึกษา นักการฑูต เซลแมน พนักงานขายตรง พนักงานต้อนรับ ประชาสัมพันธ์ นักการเมือง หรือนักธุรกิจ
7. ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)   คือ ความสามารถในการรู้จัก ตระหนักรู้ในตนเอง สามารถเท่าทันตนเอง ควบคุมการแสดงออกอย่างเหมาะสมตามกาลเทศะ และสถานการณ์ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรเผชิญหน้า เมื่อไหร่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อไหร่ต้องขอความช่วยเหลือ มองภาพตนเองตามความเป็นจริง รู้ถึงจุดอ่อน หรือข้อบกพร่องของตนเอง ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าตนมีจุดแข็ง หรือความสามารถในเรื่องใด มีความรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความคาดหวัง ความปรารถนา และตัวตนของตนเองอย่างแท้จริง เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคนเช่นกัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความสุข สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักคิด นักปรัชญา หรือนักวิจัย
8. ปัญญาด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence)  คือ ความสามารถในการรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เข้าใจกฎเกณฑ์ ปรากฏการณ์ และการรังสรรค์ต่างๆ ของธรรมชาติ มีความไวในการสังเกต เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปของธรรมชาติ มีความสามารถในการจัดจำแนก แยกแยะประเภทของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ สำหรับผู้ที่มีปัญญาด้านนี้โดดเด่น มักจะเป็นนักธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย หรือนักสำรวจธรรมชาติ

กำลังแสดง ______ 5.JPG

เสนอแนวทางปฏิบัติจากความรู้ใหม่ : เด็กสามารถใช้จินตนาการในการสร้างเรื่องราวต่างๆโดยผ่านนิทาน ที่สอดแทรกคำถามที่เป็นการกระตุ้นให้เด็กได้คิด ทบทวน เชื่อมโยงและต่อเติมเป็นเรื่องราวอื่นๆได้

วันที่สิบสาม@บ้านเขียว :::: วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557

สิ่งที่เรียนรู้ : กิจกรรมกลางแจ้ง (การเล่นเครื่องเล่นสนาม)

ความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้ : การเล่น ถือเป็นการเรียนรู้สิ่งรอบข้าง และช่วยให้เด็กมีพื้นที่ในการสร้างสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวร่างกาย และทักษะในการเข้าสังคม  พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้เหตุและผลในชีวิตประจำวัน รวมถึงการปรับตัวและการใช้แรงกาย ช่วยให้เด็กได้ออกกำลังกาย ทำให้มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง

ทฤษฎี/แนวคิดที่เกี่ยวข้อง :  องค์กร National Program for Playground Safety แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำในการฝึกฝนและพัฒนาตามหลักการ S.A.F.E. เชื่อว่า เด็กทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเล่น เด็กทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเล่น และเล่นเพื่อจะเรียนรู้ และเด็กทุกคนจะได้รับประสบการณ์การเล่นที่ปลอดภัย มีคุณค่า และเอื้อต่อการมีพัฒนาการที่ดี โดยลักษณะของนโยบาย S.A.F.E. ที่ครูหรือสถานศึกษาสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อประสิทธิภาพของสนามเล่น อธิบายได้ดังนี้
“S” หรือการสอดส่องดูแล (Supervision) และการสำรวจ (Survey)
  • ครูควรสอดส่องดูแลเด็กอย่างเหมาะสม โดยให้เด็กอยู่ในสายตาเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่ลับตา เช่น ในเครื่องเล่นสำหรับคลาน
  • ครูต้องมีความรู้ในการปฐมพยาบาลและช่วยเหลือชีวิตขั้นพื้นฐาน
  • ติดประกาศแจ้งกฎระเบียบการเล่นเครื่องเล่นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
  • ครูควรกำชับนักเรียนให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบการเล่นเครื่องเล่น และปฏิเสธไม่ให้นักเรียนเล่นเครื่องเล่น หากมีการละเมิดเกิดขึ้น
  • ก่อนที่จะอนุญาตให้นักเรียนเล่นเครื่องเล่น ครูควรสำรวจให้ดีก่อนว่า มีจุดไหนที่ชำรุดหรืออาจเป็นอันตรายต่อเด็ก และแจ้งให้เด็กระวังบริเวณเหล่านั้นเป็นพิเศษ
  • มองหาเศษแก้วแตก ขยะ ชิ้นโลหะ และของมีคมต่างๆ
  • ในช่วงกลางวัน ครูควรตรวจสอบเครื่องเล่นที่เป็นโลหะว่าร้อนเกินไปหรือไม่ หากร้อนเกินไป ก็ไม่ควรให้เด็กเล่นเครื่องเล่นดังกล่าว และหันไปเล่นเครื่องเล่นอื่นแทน
“A” หรือความเหมาะสมกับวัย (Age appropriate) และการออกแบบ (Design)
  • สำหรับเด็กอายุ 2-5 ขวบ เครื่องเล่นที่สูงเกินกว่า 20 นิ้วจากพื้นดิน ควรมีราวป้องกันไม่ให้เด็กตกลงมา
  • เครื่องเล่นควรมีความเหมาะสมกับเด็ก ทั้งขนาดที่ไม่ใหญ่จนเกินไป และลักษณะการเล่นที่ไม่โลดโผน
“F” หรือพื้นผิวกันกระแทก (Fall Surface Cushioning)
  • ควรมีพื้นผิวกันกระแทกตลอดบริเวณเครื่องเล่น และมีเกินออกไปจากเครื่องเล่นอีกอย่างน้อย 6 ฟุต
  • เครื่องเล่นชิงช้าควรมีพื้นผิวกันกระแทกเกินความยาวของสายชิงช้าอย่างน้อย 2 เท่า
  • ป้องกันไม่ให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งของอื่นใดที่อาจทำให้เกิดอันตรายอยู่ใต้เครื่องเล่น
“E” หรือการบำรุงรักษา (Equipment Maintenance)
  • ตรวจสอบว่าเครื่องเล่นยึดติดกับพื้นอย่างปลอดภัย มีความแข็งแรงปราศจากส่วนที่ชำรุด หากพบเห็นความผิดปกติ ควรแจ้งให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทราบ































เสนอแนวทางปฏิบัติจากความรู้ใหม่ : การเล่นเครื่องเล่นสนามจึงเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้านไปพร้อมๆกัน ดังนั้นครูควรมีการจัดกิจกรรมที่ให้เด็กได้พัฒนาพัฒนาการทั้ง4ด้านของเด็กได้อย่างเต็มศักยภาพตามวัย

วันที่สิบสอง@บ้านเขียว :::: วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557

สิ่งที่เรียนรู้ : สุขภาพและความปลอดภัยของเด็ก

ความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้ : เนื่องจากช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย การดูแลรักษาสุขภาพเด็กจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งเพราะเด็กในวัยนี้จะมีภูมิคุ้มกันน้อย สามารถรับเชื้อโรคต่างๆเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

ทฤษฎี/แนวคิดที่เกี่ยวข้อง : ปัญหาด้านสุขภาพ
ลักษณะของเด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพมีหลายสาเหตุดังนี้
  • ขาดสารอาหารและเติบโตช้า
  • ร่างกายอ่อนแอ เจ็บไข้ได้ป่วยได้ง่าย
  • เป็นโรคอันเกิดจากการติดเชื้อ
  • มีโรคแทรกซ้อน
  • มีอาการแพ้ หรือเป็นโรคภูมิแพ้
  • อาเจียน
  • มีอาการชัก
  • หมดสติ
  • หยุดหายใจ
  • โครงสร้างร่างกายและพัฒนาการด้านต่างๆ ไม่สมวัย
  • มีปัญหาทางสุขภาพเรื้อรัง
    โรงเรียนเป็นสถานที่แพร่เชื้อโรคแหล่งสำคัญแหล่งหนึ่งสำหรับเด็ก ทั้งนี้เพราะเด็กมาจากหลากหลายครอบครัว ซึ่งต่างคนอาจมีปัญหาสุขภาพที่ต่างกัน แต่ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อโรคสู่กันและกันได้ นอกจากนี้เด็กยังจำเป็นต้องทำกิจ กรรมที่ต้องปฏิสัมพันธ์กันโดยใกล้ชิด ซึ่งการแพร่เชื้อโรคก็พร้อมจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นครูจึงมีบทบาทสำคัญในการป้องกัน ช่วยเหลือ หรือแก้ไขปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในเด็กปฐมวัยเป็นอย่างยิ่ง และเพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กที่โรงเรียนมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ครูอาจดำเนินการตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
  • จัดเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลให้พร้อมในทุกห้องเรียน
  • เข้ารับการฝึกอบรมการปฐมพยาบาล และการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR)
  • ฝึกซ้อมสถานการณ์จำลอง เพื่อความพร้อมของบุคลากรภายในโรงเรียนในการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ
  • ตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ภายในห้องเรียนเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
  • ตรวจสอบห้องเรียนและพื้นที่โดยรอบโรงเรียน โดยหากมีจุดที่อาจเป็นอันตรายต่อนักเรียน ครูควรแจ้งฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไข
  • เมื่อจะนำนักเรียนประกอบกิจกรรมใดๆ ครูควรเฝ้าระวังให้เด็กอยู่ในสายตาตลอดเวลา รวมถึงเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนล่วงหน้า เมื่อต้องเริ่มทำกิจกรรมใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น สอนให้เด็กรู้จักวิธีการใช้ รวมถึงลองใช้เครื่องมือในการเพาะปลูก ก่อนที่จะให้เด็กลงมือเพาะปลูกจริง
  • สอนให้เด็กรักษาความสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล้างมืออย่างถูกวิธี ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร รวมถึงหลังจากทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือเป็นหลัก
  • คำนึงถึงการรับมือกับสภาพภูมิอากาศ เช่น หากอากาศร้อนและนักเรียนจำเป็นต้องทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ควรจัดให้นักเรียนสวมหมวก เป็นต้น
  • ศึกษาข้อมูลทางด้านสุขภาพของนักเรียนทุกคน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการ และข้อจำกัดที่ต่าง กันของเด็กแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม
  • เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำลายสุขภาพและร่างกายของนักเรียนนั้นมีหลากหลายประการ อีกทั้งยังอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นครูจึงควรร่วมมือกับผู้ปกครอง รวมถึงแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานในชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาหน ทางในการลดและควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว










แนวทางปฏิบัติจากความรู้ใหม่ :  ในการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากเด็กคนหนึ่งแฟร่ไปหาเด็กอีกคนหนึ่งนั้นครูสามารถทำได้โดยวิธีการต่างๆ เช่น
1. ตรวจอาการเด็กแต่ละคนในช่วงเวลาที่เข้าโรงเรียน/ห้องเรียน หากมีอาการ ไอ จาม มีน้ำมูกก็ต้องพาไปรักษา
2.หากเด็กอยู่ในห้องเรียน เด็กยังมีอาการควรแยกเด็กออกจากเพื่อนๆ /พาไปห้องพยาบาล / โทรให้ผู้ปกครองมารับ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค
3.ครูหมั่นให้เด็กล้างมือ เพื่อรักษาความสะอาดและป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายอีกทางหนึ่ง

บันทึกการศึกษางานวิชาการ



ด้านงานวัดและประเมินผล

     การประเมินพัฒนาการ
     โรงเรียนสาธิตละอออุทิศให้ความสำคัญกับการประเมินผลพัฒนาการเด็ก ซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญมากในการประเมินผลพัฒนาการเด็ก ครูเป็นผู้ประเมินพัฒนาการทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา
การประเมินผลพัฒนาการเด็กดำเนินการโดยคำนึงถึงหลักพัฒนาการด้านต่างๆดังนี้
1.ความเป็นเอกัตบุคคลของเด็ก กล่าวคือ เด็กแต่ละคนมีอัตราการเจริญเติบโตเฉพาะตนเอง
2.ความคิดรวบยอดของเด็กแต่ละคน
3.พัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กทุกด้านโดยเฉพาะด้านสติปัญญา ถือเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการเรียนรู้
4.เด็กเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากประสบการณ์ตรง การทดลอง และการค้นพบ
5.การจัดประสบการณ์การเรียนรู้แก่เด็กจำเป็นต้องคำนึงถึงพื้นฐานทางด้านครอบครัว ความสนใจ และระดับพัฒนาการของเด็กแต่ละคนในชั้น

     ด้านงานจัดกระบวนการเรียนการสอน
     การสอนภาษาแบบธรรมชาติ (Whole Language Approach) คือ การที่เด็กได้เรียนรู้การใช้ภาษาทั้งด้านการฟัง พูด อ่าน เขียนไปตามธรรมชาติ อย่างมีความหมาย สอดคล้องเหมาะสมกับวัย โดยไม่แยกว่าต้องอ่านก่อน หรือเขียนก่อน แต่จะเน้นให้เด็กได้ลงมือทำด้วยตนเอง เช่น อ่านนิทาน เล่าเรื่องราว ฟังนิทานที่ครูหรือเพื่อนเล่า เขียนคำที่ตนสนใจจากเรื่องที่ได้อ่านหรือได้ฟัง เป็นต้น การสอนภาษาธรรมชาติมีลักษณะดังนี้
     1.เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ เด็กมีโอกาสเลือกกิจกรรมปฏิบัติอย่างอิสระ ครูเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ และร่วมมือจัดการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างเด็กกับครู ตั้งแต่วางแผนการเรียนว่า จะทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ใช้อุปกรณ์อะไรและใครร่วมรับผิดชอบบ้าง
     2.คำนึงถึงการมีปฏิสัมพันธ์ของเด็กกับสังคม เพราะเด็กจะต้องอยู่ในสังคม ห้องเรียนเป็นสังคมหนึ่ง ที่ครูสร้างความรู้สึกที่ดีให้เด็กอยู่ในกลุ่มเพื่อนอย่างมีความสุข โดยไม่มีกลุ่มเด็กเรียนเก่ง เรียนอ่อนในห้องเรียน
     3.สนับสนุนให้เด็กใช้ภาษาแบบองค์รวมเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นเด็กจะได้ ฟัง พูด อ่านเขียน เพื่อสื่อสารกับผู้อื่นอย่างมีจุดมุ่งหมาย มิใช่การทำแบบฝึกหัดและแยกสอนทักษะภาษา
     4.เด็กเรียนรู้ภาษาจากการเลียนแบบ ดังนั้น ครู พ่อแม่ และทุกคนที่อยู่รอบตัวเด็กจึงมีความหมายต่อการเรียนรู้ภาษาของเด็ก เด็กจะเห็นผู้ใหญ่ใช้ภาษาหลายจุดมุ่งหมาย หลายวิธีการ เพราะเป็นเครื่องมือสื่อสารของคนเรา เช่น ฟังเพลงเพื่อความบันเทิง หรือฟังบรรยายเพื่อเก็บความรู้ การอ่านเพื่อเพลินเพลิด หรือการอ่านเพื่อเก็บความรู้ เป็นต้น
     5.ผู้ใหญ่เป็นนักอ่านที่ดีให้เด็กเห็นเป็นแบบอย่าง และผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้เด็กฟัง ให้เด็กมีโอกาสซึมซับภาษา (immersion) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ภาษา
     6.เชื่อว่าเด็กทุกคนเรียนรู้ภาษาได้ โดยครูทราบเช่นกันว่า เด็กเรียนรู้ภาษาแบบธรรมชาติเป็นอย่างไร
     7.เด็กสามารถเกิดประสบการณ์ทางภาษาได้ตลอดเวลาในวันหนึ่งๆ ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ดังนั้น การที่เด็กมาโรงเรียน เขาได้รู้ ได้เห็นสัญลักษณ์ทางภาษารอบตัว เช่น ป้ายทะเบียนรถ ป้ายชื่อร้านค้า เครื่องหมายจราจร เป็นต้น เด็กได้ยิน ได้ฟัง ได้สนทนาโต้ตอบ เป็นการใช้ภาษา
     8.เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีภาษาหรือตัวหนังสือ ในห้องเรียนจะมีหนังสือสำหรับเด็กอย่างเพียงพอกับจำนวนเด็ก มีมุมอ่าน มุมเขียน มุมห้องสมุด มีป้ายประกาศต่างๆ ที่ทำให้เด็กคุ้นเคยกับภาษา เช่น ป้ายชื่อ ป้ายติดผลงาน ป้ายข่าวและเหตุการณ์ มีมุมหุ่น มุมนิทานให้เด็กได้ใช้ภาษาพูด เล่าเรื่องราว เป็นต้น
     9.เด็กได้เรียนภาษาอย่างมีความสุข โดยครูจัดการเรียนการสอนที่น่าสนใจ มีความสนุกสนาน เนื้อหาที่เรียนมีอยู่จริงในชีวิตประจำวัน
     10.เด็กได้รับการสนับสนุนจากครูและพ่อแม่ให้อ่านหนังสือ โดยโรงเรียนมีหนังสือให้เด็กยืมกลับบ้านไปอ่าน
     11.ครูจัดหาหนังสือเพิ่มเติมให้เด็กเสมอ อาจจะหมุนเวียน เปลี่ยนสลับระหว่างห้องเรียน และได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองจัดหามาให้ยืม

การประเมินผลในระดับชั้นเรียน
1.การสังเกต
2.การสัมภาษณ์ พูดคุย
3.การใช้แบบประเมินพัฒนาการ
4.การบันทึกแฟ้ม
5.การใช้แฟ้มผลงานเด็ก

งานพัฒนาการเรียนการสอน
- การพัฒนาครู มีการจัดอบรมครูในโรงเรียน ส่งครูเข้ารับการอบรมกับหน่วยงานด้านการศึกษาปฐมวัย ประชุมครูเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้
- การพัฒนาเด็ก มีการพัฒนาแผนการจัดประสบการณ์ในกิจกรรมและเกมการศึกษา จัดโครงการที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กแต่ละด้าน
- การใช้แหล่งเรียนรู้ที่ส่งเสริมและพัฒนาเด็กสอดคล้องกับหน่วยการเรียน
- การใช้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน เช่น สนับสนุนสื่ออุปกรณ์ตามความเหมาะสม

วันที่สิบเอ็ด@บ้านเขียว :::: วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557

สิ่งที่เรียนรู้ : กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ (การผสมสี สีน้ำเงิน+สีแดง =สีม่วง)

ความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้ : การนำเอาสีสองสีมาผสมกันแล้วได้เป็นอีกสีหนึ่งให้เด็กดูเป็นการทดลองโดยให้เด็กได้ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ โดยได้จากการสังเกต และนำเอาข้อมูลที่ได้จากการสังเกตมาเป็นคำตอบว่าสีน้ำเงินผสมกับสีแดงจะได้เป็นสีม่วง


ทฤษฎี/แนวคิดที่เกี่ยวข้อง :  เสงี่ยม โตรัตน์ (2546 : 28) กล่าวถึง ลักษณะของการคิดวิเคราะห์ไว้ว่า การคิดวิเคราะห์ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 2 องค์ประกอบ คือ ทักษะในการจัดระบบข้อมูล ความเชื่อถือได้ของข้อมูล และการใช้ทักษะเหล่านั้นอย่างมีปัญญาเพื่อการชี้นำพฤติกรรมดังนั้น การคิดวิเคราะห์จึงมีลักษณะต่อไปนี้
1. การคิดวิเคราะห์จะไม่เป็นเพียงการรู้หรือการจำข้อมูลเพียงอย่างเดียว เพราะการคิดวิเคราะห์จะเป็นการแสวงหาข้อมูลและการนำข้อมูลไปใช้
2. การคิดวิเคราะห์ไม่เพียงแต่การมีทักษะเท่านั้น แต่การคิดวิเคราะห์จะต้องเกี่ยวกับการใช้ทักษะอย่างต่อเนื่อง
3. การคิดวิเคราะห์ไม่เพียงแต่การฝึกทักษะอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องมีทักษะที่จะต้องคำนึงถึงผลที่ยอมรับได้


        เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2546 : 15-16) กล่าวถึง ลักษณะของการคิดวิเคราะห์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการคิดวิเคราะห์ไว้ว่า การจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ประกอบเป็นการคิดวิเคราะห์แตกต่างไปตามทฤษฎี การเรียนรู้ โดยทั่วไปสามารถแยกแยะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการคิดวิเคราะห์ ได้ดังนี้
1. การสังเกต จากการสังเกตข้อมูลมากๆ สามารถสร้างเป็นข้อเท็จจริงได้
2. ข้อเท็จจริง จากกการรวบรวมข้อเท็จจริง และการเชื่อมโยงข้อเท็จจริงบางอย่างที่ขาดหายไป สามารถทำให้มีการตีความได้
3. การตีความ เป็นการทดสอบความเที่ยงตรงของการอ้างอิง จึงทำให้เกิดการตั้งข้อตกลงเบื้องต้น
4. การตั้งข้อตกลงเบื้องต้น ทำให้สามารถมีความคิดเห็น
5. ความคิดเห็น เป็นการแสดงความคิดจะต้องมีหลักและเหตุผลเพื่อพัฒนาข้อวิเคราะห์

        นอกจากนั้น เป็นกระบวนการที่อาศัยองค์ประกอบเบื้องต้นทุกอย่างร่วมกัน โดยทั่วไปนักเรียนจะไม่เห็นความแตกต่างระหว่างการสังเกตและข้อเท็จจริง หากนักเรียนเข้าใจถึงความแตกต่างก็จะทำให้นักเรียนเริ่มพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ได้  สุวิทย์ มูลคำ (2548 : 23-24) ได้จำแนกลักษณะของการคิดวิเคราะห์ ไว้เป็น 3 ด้าน คือ
1. การวิเคราะห์ส่วนประกอบ เป็นความสามารถในการแยกแยะค้นหาส่วนประกอบที่สำคัญของสิ่งหรือเรื่องราวต่างๆ เช่น การวิเคราะห์ส่วนประกอบของพืช หรือเหตุการณ์ต่างๆตัวอย่างคำถาม เช่น อะไรเป็นสาเหตุสำคัญของการระบาดไข้หวัดนกในประเทศไทย
2. การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ เป็นความสามารถในการหาความสัมพันธ์ของส่วนสำคัญต่างๆ โดยระบุความสัมพันธ์ระหว่างความคิด ความสัมพันธ์ในเชิงเหตุผล หรือความแตกต่างระหว่างข้อโต้แย้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างคำถาม เช่น การพัฒนาประเทศกับการศึกษามีความสัมพันธ์กันอย่างไร
3. การวิเคราะห์หลักการ เป็นความสามารถในการหาหลักความสัมพันธ์ส่วนสำคัญในเรื่องนั้นๆ ว่าสัมพันธ์กันอยู่โดยอาศัยหลักการใด ตัวอย่างคำถาม เช่น หลักการสำคัญของศาสนาพุทธ ได้แก่อะไร
          จะเห็นได้ว่าการวิเคราะห์นั้นจะต้องกำหนดสิ่งที่จะต้องวิเคราะห์ กำหนดจุดประสงค์ที่ต้องการจะวิเคราะห์ แล้วจึงวิเคราะห์อย่างมีหลักเกณฑ์ โดยใช้วิธีการพิจารณาแยกแยะ เทคนิควิธีการในการวิเคราะห์ เพื่อรวบรวมประเด็นสำคัญหาคำตอบให้กับคำถาม โดยมีลักษณะของการคิดวิเคราะห์ความสัมพันธ์ วิเคราะห์ความสำคัญและวิเคราะห์หลักการของเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆ
1. การคิดวิเคราะห์ความสัมพันธ์ได้แก่ การเชื่อมโยงข้อมูล ตรวจสอบแนวคิดสำคัญและความเป็นเหตุเป็นผล แล้วนำมาหาความสัมพันธ์และข้อขัดแย้งในแต่ละสถานการณ์ได้
2. การคิดวิเคราะห์ความสำคัญ ได้แก่ การจำแนกแยกแยะความแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงและสมมติฐานแล้วนำมาสรุปความได้
3. การคิดวิเคราะห์หลักการ ได้แก่ การวิเคราะห์รูปแบบ โครงสร้าง เทคนิค วิธีการและการเชื่อมโยงความคิดรวบยอด โดยสามารถแยกความแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงและทัศนคติของผู้เขียนได้
            ไพรินทร์ เหมบุตร (2549 : 1) กล่าวถึง ลักษณะของการคิดวิเคราะห์ประกอบด้วย 4ประการ คือ
1. การมีความเข้าใจ และให้เหตุผลแก่สิ่งที่ต้องการวิเคราะห์ เพื่อแปลความสิ่งนั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความรู้ ประสบการณ์ และค่านิยม
2. การตีความ ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องที่จะวิเคราะห์
3. การช่างสังเกต ช่างถาม ขอบเขตของคำถาม ยึดหลัก 5 W 1 H คือ ใคร (Who) อะไร (What) ที่ไหน (Where) เมื่อไร (When) อย่างไร (How) เพราะเหตุใด (Why)
4. ความสัมพันธ์เชิงเหตุผล ใช้คำถามค้นหาคำตอบ หาสาเหตุ หาการเชื่อมโยง ส่งผลกระทบ วิธีการ ขั้นตอน แนวทางแก้ปัญหา คาดการณ์ข้างหน้าในอนาคต


เสนอแนวทางปฏิบัติจากความรู้ใหม่ : กิจกรรมที่ฝึกให้เด็กได้รู้จักการคิด วิเคราะห์ ทดลอง แยกแยะ เพื่อหาเหตุและผลที่เกิดจากสิ่งที่เด็กได้ลงมือกระทำโดยผ่านสื่อและอุปกรณ์ต่างๆที่หาได้รอบตัวเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นเด็กให้มีความสนใจและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆต่อไป

วันที่สิบ@บ้านเขียว :::: วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557

สิ่งที่เรียนรู้ : การจัดกิจกรรมพละศึกษาให้เหมาะกับเด็กปฐมวัย

ความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้ : ในการจัดกิจกรรมพละศึกษาให้กับเด็กปฐมวัยนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะเด็กเมื่อออกนอกห้องเรียนมักจะสนใจแต่สิ่งแวดล้อมรอบข้าง และจะไม่ค่อยสนใจคุณครู



 ทฤษฎี/แนวคิดที่เกี่ยวข้อง :  กิจกรรมการเล่นเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ที่ครูจัดในสถานศึกษา มีดังนี้
  • กิจกรรมกลางแจ้ง (outdoor play) เป็นกิจกรรมที่เน้นให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อใหญ่เป็นหลัก เนื่องจากเด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายทุกส่วนทั้งแขน ขา ลำตัว และการประสานสัมพันธ์ในการเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในแต่ละวันครูจัดให้เด็กได้เล่นกลางแจ้งวันละประมาณ 40 – 60 นาที โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การเล่นเครื่องเล่นสนามอย่างอิสระและการเล่นเกมพลศึกษา สำหรับการเล่นเครื่องเล่นสนามซึ่งทางโรงเรียนจัดไว้ให้ เช่น ชิงช้า ม้าหมุน ราวไต่ โครงไต่ กระดานลื่น บ้านจำลอง บ่อทราย เป็นต้น เมื่อเด็กได้เล่นอุปกรณ์เครื่องเล่นเหล่านี้ จะทำให้เด็กได้พัฒนาทั้งกล้ามเนื้อแขน ขา และลำตัว ส่วนเกมพลศึกษาเป็นกิจกรรมที่ครูจัดให้กับเด็กเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ ซึ่งลักษณะของกิจกรรมเกมดังกล่าวจะเน้นการเล่นที่มีขั้นตอนการเล่น มีกฎ กติกา ข้อตกลง มีการแข่งขันแบบทีม เช่น เกมการวิ่งเก็บของ เกมการโยนลูกบอลลงตะกร้า เกมโยนลูกช่วง เกมแข่งขันการเดินทรงตัวบนกระดานทรงตัว เป็นต้น
  • กิจกรรมการเล่นในร่ม (indoor play) เป็นการเล่นที่อยู่ภายในอาคารเรียนมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่เช่นเดียวกันกับการเล่นกลางแจ้ง การเล่นประเภทนี้ เช่น การเล่นบล็อกต่างๆ การเล่นมอญซ่อนผ้า เก้าอี้ดนตรี กาฟักไข่ เป็นต้น
  • กิจกรรมการออกกำลังกาย (exercise) กิจกรรมการออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่ครูจัดให้เด็กเพื่อให้เด็กสามารถควบคุมกล้ามเนื้อใหญ่ของร่างกาย ส่วนใหญ่กิจกรรมนี้ครูจะเป็นผู้นำให้เด็กปฏิบัติตาม เช่น การให้เด็กกระโดดขึ้น/ลง การกระโจนลง การแกว่งแขน การกระโดดและตบมือ การกระโดดสูง กระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง เป็นต้น
  • กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย (physical movement) เป็นการเคลื่อนไหวที่ใช้ในกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะที่ให้เด็กเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกายเพื่อสร้างความตระหนักให้กับเด็กในเรื่องหน้าที่ของร่างกาย สามารถควบ คุมการใช้งานส่วนต่างๆของร่างกายให้สัมพันธ์กันถูกจังหวะเวลา การเคลื่อนไหวประกอบด้วยการควบคุม การทรงตัว การควบคุมการใช้กล้ามเนื้อแขน ขา และการตระหนักเรื่องการเคลื่อนไหว ซึ่งในระดับปฐมวัยการเคลื่อนไหวร่างกายแบ่งออก เป็น 2 ประเภทคือ การเคลื่อนไหวพื้นฐานและการเคลื่อนไหวประกอบจังหวะ/ดนตรี การเคลื่อนไหวพื้นฐาน ได้แก่ การนั่ง การยืน การเดิน การวิ่ง การกระโดด การกระโจน การเคลื่อนไหวพื้นฐานสามารถนำมาจัดเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ได้ เช่น การเคลื่อนไหวตามสัญญาณ การเคลื่อนไหวตามผู้นำ การเคลื่อนไหวเลียนแบบสัตว์ ส่วนการเคลื่อนไหวประกอบจังหวะ/ดนตรี เป็นการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกายของเด็กเมื่อได้ยินเสียงจากการเครื่องเคาะ เครื่องตี หรือการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกายเมื่อได้ยินเสียงดนตรี เช่น ดนตรีเร็วให้เคลื่อนไหวแบบเร็ว ถ้าได้ยินเสียงดนตรีที่มีจังหวะช้าก็ให้เคลื่อน ไหวร่างกายแบบช้า เป็นต้น









เสนอแนวทางปฏิบัติจากความรู้ใหม่ : สามารถนำวิธีการในการจัดกิจกรรมแบบง่ายๆที่่เด็กสามารถทำได้ เช่น การกระโดด การลุกนั่ง การทำสะพานโค้ง การเดินถอยหลัง การวิ่ง เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นการฝึกการเคลื่อนไหว การทรงตัว และรวมไปถึงการประสานสัมพันธ์ส่วนต่างๆของร่างกาย  เพื่อส่งเสริมการพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ให้กับเด็กในวัยนี้อีกด้วย











วันที่เก้า@บ้านเขียว :::: วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557

สิ่งที่เรียนรู้ : แผนการจัดกิจกรรมเสรี หน่วยสีแสนสนุก (นางสาวธันยาภรณ์ จินดารัตน์)

ความคิดเห็นที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้ : กิจกรรมเสรีเป็นกิจกรรมที่เด็กได้มีสิทธิ์เลือกเล่นในสิ่งที่ตนสนใจ และต้องการที่จะเรียนรู้ ดังนั้นครูควรจัดกิจกรรมที่น่าสนใจและสอดคล้องกับหน่วยการเรียนรู้นั้นๆ

ทฤษฎี/แนวคิดที่เกี่ยวข้อง :  ในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นในตนเองให้กับเด็กนั้น ครูปฐมวัยมีการศึกษาหลักการ ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัยในแต่ละช่วงอายุว่า มีลักษณะอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร มีปัจจัยหรือองค์ประกอบใดบ้าง ที่จะส่งเสริมเด็กให้มีความเชื่อมั่นในตนเองได้ เช่น การศึกษาทฤษฎีการพัฒนาบุคลิกภาพของอีริคสัน (Erikson) ที่ได้กล่าวว่า เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่เรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกใหม่และน่าตื่นเต้นสำหรับเด็ก บุคลิกภาพจะสามารถพัฒนาได้ดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่ว่า แต่ละช่วงวัยของเด็กจะประสบความพึงพอใจตามขั้นพัฒนาการต่างๆได้มากน้อยเพียงใด ถ้าเด็กได้รับการตอบสนองในสิ่งที่เขาพึงพอใจในช่วงอายุนั้น เด็กก็จะมีบุคลิกภาพที่ดี ซึ่งในช่วงวัย 3 – 5 ปี เด็กจะมีพัฒนาการทางบุคลิกภาพในขั้น การริเริ่มหรือการรู้สึกผิด (Initiative & Guilt) เด็กมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัวเอง เด็กจะมีการเลียนแบบผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือสิ่งแวดล้อมที่ตนรับรู้ เด็กเริ่มเรียนรู้ และยอมรับค่านิยมของครอบครัวและสิ่งที่ถ่ายทอดสู่เด็ก ถ้าเด็กไม่มีอิสระในการทำสิ่งต่างๆตามที่เขาต้องการ ก็จะเกิดความคับข้องใจไม่สามารถเรียนรู้ในสิ่งที่ตนอยากรู้ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อจิตใจของเด็กและความรู้สึกผิดติดตัว ทำให้ไม่กล้าคิดหรือทำสิ่งต่างๆต่อไป หรือทฤษฎีความต้องการขั้นพื้นฐานของมาสโลว์ (Maslow) ที่เชื่อว่ามนุษย์มีคุณภาพ เนื่องมาจากความคิด ความรู้สึก ความตระหนักรู้และการแสวงหาสิ่งที่ดีงาม ค้นหาเป้าหมายของชีวิตให้ได้รับสิ่งที่มีความหมายต่อตนเอง และมนุษย์ทุกคนมีความต้องการแสวง หาสิ่งแปลกใหม่ ที่จะสนองความต้องการให้กับตนเองทั้งสิ้น ซึ่งในเด็กปฐมวัยเป็นวัยที่มีความต้องการในขั้นพื้นฐาน ได้แก่ -ความต้องการทางด้านร่างกาย ได้แก่ อาหาร น้ำ อากาศ อุณหภูมิ การนอนหลับ การขับถ่าย เป็นต้น
  • ความต้องการความปลอดภัย ได้แก่ ความรู้สึกมั่นคง การได้รับการปกป้อง ความมั่นคงจากครอบครัว ความปลอดภัยจากความวิตกกังวล การหลีกเลี่ยงอันตราย ความเจ็บป่วยต่างๆ การได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย เป็นต้น
  • ความต้องการความรัก ความเป็นเจ้าของ ได้แก่ การต้องการความรัก อยากให้ตนเป็นที่รัก และได้รับการยอมรับ ตั้งแต่ครอบครัว กลุ่มเพื่อน กลุ่มสังคม กลุ่มทำงาน เป็นต้น


     ทฤษฎีที่เป็นพื้นฐานเหล่านี้ ครูจึงนำมาพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสมกับการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัย กิจกรรมที่ครูมักนำมาจัดเพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นในตนเองให้กับเด็กปฐมวัย มีตัวอย่างดังนี้
  • กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กได้เคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย อย่างอิสระตามเสียง เพลง จังหวะ ทำนอง ฯลฯ เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้รับการพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆ แสดงออกในด้านจินตนาการและความ คิดสร้างสรรค์ การที่จะส่งเสริมความเชื่อมั่นจากการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ ครูจะเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำกิจ กรรมด้วยตนเองอย่างทั่วถึง และพยายามส่งเสริมให้เด็กสามารถรับรู้ศักยภาพแห่งตนจากกิจกรรมนี้ให้มากที่สุด เช่น กิจ กรรมการเคลื่อนไหวแบบผู้นำ – ผู้ตาม เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กออกมาแสดงท่าทางตามจังหวะและเสียงเพลง และให้เพื่อนทำตามท่าทางนั้น กิจกรรมลักษณะนี้เป็นวิธีการที่ช่วยให้เด็กได้มีความกล้าในการที่จะแสดงออกได้เป็นอย่างดี และพัฒนาต่อไปเป็นความเชื่อมั่นในตนเอง หรือการเคลื่อนไหวตามเรื่องราวหรือนิทานที่ครูเล่า จะทำให้เด็กกล้าที่จะแสดงออกถึงท่าทาง สีหน้าตามบทบาทของตัวละครที่ครูเล่าได้ด้วยความมั่นใจ ดังนั้น ในการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ ครูจะสังเกตพฤติกรรมเด็กอย่างใกล้ชิด และให้โอกาสเด็กที่ไม่ค่อยกล้าแสดงออก มาทำกิจกรรม ให้เป็นผู้นำในการเคลื่อน ไหว อีกทั้งยังได้รับการชื่นชม หรือให้แรงเสริมทางบวก เพื่อให้เด็กรับรู้ความสามารถและพัฒนาพฤติกรรมที่พึงประสงค์อย่างต่อเนื่อง
  • กิจกรรมเสริมประสบการณ์/กิจกรรมในวงกลม เป็นกิจกรรมที่มุ่งให้เด็กได้เกิดความคิดรวบยอดในสิ่งที่เรียนรู้ ผ่านการจัดกิจกรรมบูรณาการอย่างเหมาะสม และการเน้นลงมือปฏิบัติจริง ด้วยวิธีการจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย เช่น การสนทนาอภิปราย การสาธิต การทดลอง การประกอบอาหาร การศึกษานอกสถานที่ การเล่านิทาน การแสดงบทบาทสมมติ เป็นต้น การจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์จะเน้นให้เด็กทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ การทำโครงการเป็นกลุ่ม การทดลองเป็นกลุ่ม การศึกษานอกสถานที่เป็นกลุ่ม ซึ่งกิจกรรมกลุ่มที่มีความสัมพันธ์จะส่งผลดีต่อการสร้างสัมพันธภาพและการสื่อสารระหว่างสมาชิก เกิดการแบ่งหน้าที่ในการทำงานกลุ่ม สร้างความรับผิดชอบต่อตนเองและกลุ่ม ทำให้ทุกคนต้องแสดงบท บาทในฐานะที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม ดังนั้น การที่เปิดโอกาสให้ทุกคนในกลุ่มได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบเป็นการสนับสนุนพฤติกรรมด้านการแสดงออก ซึ่งเป็นคุณลักษณะของการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้กับเด็กได้ นอกจากนี้ ในการจัดกิจกรรมทุกครั้ง ต้องมีการสรุปและนำเสนอผลงานของกลุ่ม เด็กก็จะมีโอกาสในการนำเสนอผลงานด้วยการพูด อธิบายสิ่งที่ทำให้เพื่อนรับรู้ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวนี้ก็เป็นการส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงออก และเป็นการสร้างความรู้สึกและการรับรู้คุณค่าในตนเองด้วย

  • กิจกรรมสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กแสดงออกทางด้านความรู้สึก จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ผ่านสื่อ วัสดุอุปกรณ์อย่างหลากหลายด้วยการใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้ เช่น การวาดภาพระบายสี การพิมพ์ภาพ การฉีก พับ ตัด ปะกระดาษ การเล่นและทดลองด้วยสี การปั้น การประดิษฐ์จากเศษวัสดุ ฯลฯ กิจกรรมสร้างสรรค์จะเน้นในเรื่องการแสดงออกอย่างอิสระในด้านศิลปะ เพื่อให้เด็กสามารถถ่ายทอดความรู้สึก การคิด จินตนาการออกมา ให้เด็กรับรู้และชื่นชมทางด้านศิลปะ อีกทั้งยังให้รู้จักชื่นชมผลงานของตนเองและผลงานผู้อื่น หลักการสำคัญของกิจกรรมสร้างสรรค์นี้คือ การส่งเสริมให้เด็กริเริ่มกิจกรรมอย่างอิสระ (Child Initiate) ได้มีโอกาสเลือกกิจกรรม วัสดุอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งลักษณะของการริเริ่มกิจกรรมด้วยตนเอง จะทำให้เด็กได้วางแผน ปฏิบัติกิจกรรมและทบทวนสิ่งที่ได้วางแผนหรือเลือก เป็นการส่งเสริมเด็กให้รู้จักการกำกับตนเองด้วย (Self Regulation) กิจกรรมสร้างสรรค์ยังมุ่งให้เด็กได้ประสบความสำเร็จจากการปฏิบัติกิจกรรมในทุกครั้ง ดังนั้นการที่เด็กได้รับความสำเร็จ เป็นการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ เด็กจะรู้คุณค่าในตนเอง ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความเชื่อมั่นในตนเอง 
  • กิจกรรมเสรี/เล่นตามมุม เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ โดยส่งเสริมให้เด็กรู้จักเลือก ตัดสินใจ และแก้ปัญหาจากการเล่นของตนเอง และการเล่นกับผู้อื่น กิจกรรมเสรีเป็นกิจกรรมที่เด็กมีโอกาสเล่นเป็นรายบุคคล หรือการเล่นร่วมกับเพื่อนในมุมประสบการณ์ต่างๆที่จัดไว้ และมีวัสดุอุปกรณ์ประจำมุมอย่างหลากหลาย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ากิจ กรรมการเล่นตามมุมนี้ เด็กมีโอกาสที่แสดงออกอย่างเสรีได้มากที่สุด สังเกตได้ว่ากิจกรรมการเล่นตามมุม เด็กส่วนใหญ่จะนำประสบการณ์การเล่นที่ได้เรียนรู้มาก่อนมาใช้เล่นตามมุมที่โรงเรียน เช่น การเล่นหม้อข้าวหม้อแกง การเลียนแบบชีวิตในครอบครัว การแสดงบทบาทเป็นพ่อ แม่ สมาชิกในครอบครัว หรือเลียนแบบอาชีพต่างๆ เช่น หมอ ตำรวจ ชาวนา ในบาง ครั้งเมื่อเด็กได้มีโอกาสเล่นตามมุมกับเพื่อน เขาจะกล้าแสดงออกได้มากกว่าการที่ครูจะร่วมเล่นหรืออยู่ด้วย เด็กจะร่วมกันวางแผนการเล่นในมุมบทบาทสมมติ มีการสร้างเรื่องราวที่จะเล่นหรือแสดง และเป็นสิ่งที่น่าประทับใจมาก กิจกรรมนี้สามารถทำให้เด็กที่ไม่กล้าแสดงออก สามารถที่จะเรียนรู้ทักษะทางสังคมและพฤติกรรมชอบสังคมได้เป็นอย่างดี
  • กิจกรรมกลางแจ้ง เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการแสดงออกด้วยการเล่นนอกห้องเรียน อาจจะเป็นสนามเด็กเล่น หน้าห้องเรียน หรือสถานที่ในร่มก็ได้ กิจกรรมกลางแจ้งมีรูปแบบการจัดได้ในหลายลักษณะ เช่น การเล่นเครื่องเล่นสนามอิสระ การเล่นเกมทั่วไป การเล่นเกมพื้นบ้านแบบไทย การเล่นเกมพลศึกษา การเล่นน้ำ เล่นทราย เป็นต้น การส่งเสริมความเชื่อมั่นในตนเองจากการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง ด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นและเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นขณะเล่น เช่น การเล่นแบบไทย งูกินหาง กาฟักไข่ เป็นกิจกรรมการเล่นที่เด็กจะต้องมีการตกลงกันว่า ใครจะทำหน้าที่อะไร ใครเป็นพ่องู ใครเป็นแม่งู หรือใครเป็นกา การเรียนรู้ที่จะปรับตัวจึงเกิดขึ้นในช่วง เวลาของการเล่น ซึ่งการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความเชื่อมั่นในตนเอง
  • เกมการศึกษา เป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาเด็กให้มีความคิดรวบยอด รู้จักสังเกต จำแนก เปรียบเทียบ จัดหมวดหมู่ การคิดแก้ปัญหา การพัฒนาสติปัญญาความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กจะเกิดขึ้นได้ จากการที่ครูให้โอกาสเด็กได้เล่นเกมประเภทต่างๆอย่างอิสระ เด็กได้คิดแก้ปัญหาจากการเล่น ประสบความสำเร็จในการเล่น ทำให้เด็กมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตน และพัฒนาไปสู่ความภาคภูมิใจในตนเอง กิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัยตามตารางกิจกรรมประจำวัน สามารถพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองได้ทุกกิจกรรม แต่การที่เด็กจะพัฒนาได้มากน้อยหรือช้าเร็ว ขึ้นอยู่กับบทบาทของครู ที่มีความสำคัญในการส่งเสริมให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ ด้วยการจัดกิจกรรมที่มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับพัฒนาของเด็กในแต่ละวัยได้อย่างเหมาะสม

แนวทางปฏิบัติจากความรู้ใหม่ : จากการที่เพื่อนได้จัดกิจกรรมเสรีและมีสื่อต่างๆให้เด็กได้มีโอกาสได้เลือกนั้น ทำให้เด็กที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมหรือการกระทำที่เกิดขึ้นในการดำรงชีวิตในแต่ละวัน เช่น การกล้าพูด กล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่ขี้อาย ไม่ประหม่า มีจิตใจมั่นคง มีความภาคภูมิใจในตนเองมีความมั่น ใจในความคิดของตนเอง และพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น กล้าตัดสินใจโดยไม่ลังเล ไม่มีความวิตกกังวล กล้าเผชิญต่อความจริง รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างความสำเร็จในด้านต่างๆของชีวิตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ความเชื่อมั่นในตนเอง